ปัจจุบันการสํารวจพื้นผิวภูมิประเทศด้วยอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ได้เข้ามามีบทบาทแทนการสํารวจภาคพื้นดินแบบดั้งเดิม (ground survey) เนื่องสามารถทําการสํารวจได้รวดเร็วและสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ยากหรือเสี่ยงต่ออันตรายกรณีสํารวจโดยภาคพื้นดิน อีกทั้งยังมีผลการสํารวจที่มีความแม่นยําสูงเทียบเท่ากับการสํารวจภาคพื้นดินอีกด้วย การสํารวจพื้นผิวภูมิประเทศด้วยอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ส่วนใหญ่จะเป็นการสํารวจด้วยวิธีการ รังวัดด้วยภาพถ่ายทางอากาศ (photogrammetry) เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากและมีความแม่นยําสูง เทียบเท่ากับการสํารวจภาคพื้นดิน แต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการนําการสํารวจด้วยแสงเลเซอร์ (LiDAR) มาใช้ในการสํารวจสภาพภูมิประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีความแม่นยําสูงใกล้เคียงกันและมีความสามารถในการสํารวจระดับผิวดินในพื้นที่ที่มีต้นไม้ปกคลุม (vegetation area) และยังสามารถสํารวจได้ทุกช่วงเวลาแม้กระทั่งช่วงกลางคืน ซึ่งถือว่าเป็นการลดข้อจํากัดของการสํารวจในพื้นที่ที่จําเป็นในการสํารวจช่วงกลางคืน เช่น บริเวณ พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีช่วงน้ำลงในเวลากลางคืน
LiDAR (Light Detection and Ranging) เป็นเทคโนโลยีที่ใช้การส่งสัญญาณแสง (pulsed laser) ไปยังพื้นผิววัตถุหรือสภาพแวดล้อมที่ต้องการสํารวจ และรับสัญญาณแสงสะท้อนกลับมาเพื่อคํานวณตำแหน่งหรือระยะทางระหว่างอุปกรณ์และพื้นผิวนั้นๆ เมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับระยะทางและตำแหน่งของแต่ละจุดที่สแกน อุปกรณ์ LiDAR จะนําข้อมูลนี้มาสร้างเป็นแผนที่ 3 มิติ เพื่อใช้งานหรือวิเคราะห์งานด้านอื่นๆ ต่อไป ดังนั้นการนําวิธีการสํารวจพื้นผิวภูมิประเทศด้วยแสงเลเซอร์แบบติดตั้งกับอากาศยานไร้คนขับมาประยุกต์ใช้ในการสํารวจพื้นที่ศึกษาในครั้งนี้ ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการสํารวจและลดข้อจํากัดของการสํารวจด้วยวิธีรังวัดด้วยภาพถ่ายทางอากาศตามที่กล่าวมาข้างต้น
ตัวอย่างผลการสำรวจประสิทธิภาพการทำงานของต้นโกงกางเทียม ด้วยเทคนิค UAV-LiDAR ที่แสดงถึงเส้นชันความสูงท้องน้ำ (bathymetry) พบว่าไม้โกงกางเทียมช่วยลดพลังงานคลื่นและลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ จากปริมาณตะกอนที่สะสมบริเวณด้านหลังแนวป้องกัน